Breaking News

พลิกโฉมโรงเรียน พลิกอย่างไร

พลิกโฉมโรงเรียน:พลิกอย่างไร

ทำไมต้องพลิกโฉม
          ด้วยสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของครอบครัว โลกทั้งใบเข้าสู่ยุคดิจิตอล ปัญหาทางด้านโภชนาการ และความพร้อมทางด้านร่างกายและสมองของเด็กที่ลดลง ส่งผลให้วิกฤติทางการศึกษาได้รับการกล่าวถึงกันมาก ซึ่งหากเรายังคง จัดการศึกษาเหมือนที่เป็นอยู่ ไม่มีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ปัญหาทางด้านการศึกษาก็คงยังต้องปรากฏให้เห็น และครูเรานี่แหละที่ยังคงต้องทนเป็นจำเลยของสังคมต่อไป ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ชาวครูเรา จะต้องหันมาพลิกโฉมโรงเรียนกันอีกรอบ โดยรูปแบบหนึ่งที่จะกล่าวถึงในการพลิกโฉมในที่นี้ ก็คือ การพลิกโฉมโรงเรียนตามแนวคิด BBL

แนวคิด Brain-base Learning
          แนวคิด BBL เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาสมองของมนุษย์ โดยนำความรู้เรื่องประสาทวิทยา มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
          1.สมองเติบโต ปรับตัว ถอดแบบและเรียนรู้ไปตามสิ่งแวดล้อม             
2.การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย สมอง จิตใจ มีผลกระทบต่อกันและกัน
          3.การเรียนรู้ที่มีพลังมากที่สุด คือการเรียนรู้ที่สามารถกระตุ้นอารมณ์ของผู้เรียนได้ สมองจะยอมรับต่อสิ่งทีมันเห็นว่ามีความหมายต่อมัน นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นเมื่อ ความรู้ที่กำลังเรียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ในชีวิต หรือเป็นเรื่องราวที่สำพันธ์กับตนเอง ในขณะเดียวกัน ข้อมูลที่ทำให้สมองหวั่นใจ ไม่ปลอดภัย ก็จะมีผลทางลบต่อการเรียนรู้
          4.สมองจะเรียนรู้ได้ ต้องมีการสร้างโครงข่ายของเซลล์สมอง อันจำเป็นขึ้นมาก่อน
          5.สมองของนักเรียนแต่ละคนพัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานที่ต่างกัน มีท่วงทำนองการเรียนรู้ที่ต่างกัน
เราจะพลิกโฉมโรงเรียนอย่างไร
          จากโครงการพลิกโฉมโรงเรียนตามแนวทาง BBL ได้กล่าวถึงกุญแจ 5 ดอก ทั้งสนามเด็กเล่น ห้องเรียน กระบวนการเรียนรู้ หนังสือเรียนและใบงาน สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ ทั้ง 5 ส่วนนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ในที่นี้ผู้เขียนขอสรุป เป็นแนวทางกว้าง ๆ ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
          1.บรรยากาศและสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงห้องเรียน โต๊ะ เก้าอี้ สนามเด็กเล่น ให้เอื้อต่อการพัฒนาสมอง โดยอาศัยทฤษีต่าง ๆ มาใช้ในการดำเนินการ เช่นสนามเด็กเล่น ต้องจัดทำเป็นฐานที่หลากหลาย รองรับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้เด็กได้ เดิน วิ่ง กระโดด โหน ลอด โดยต้องจัดเวลาให้เด็กได้เล่นสนาม ทีมีครูเป็นผู้ดูแล ประมาณวันละ 20 นาที เด็กแต่ละคนจะต้องได้เล่นครบทุกฐาน ไม่ใช่เลือกเล่นฐานใดฐานหนึ่งที่ตนชอบ
          2.กระบวนการจัดการเรียนรู้ ครูเราทราบดีว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอน จะช่วยกระตุ้นให้สมองของเด็ก ตื่นตัว สนใจ ท้าทายการคิดและจดจำ ผู้เขียนขอสรุปแนวทางการจัดกิจกระบวนการเรียนรู้ได้ 3 ขั้นตอน คือ
             2.1 การกระตุ้นสมองน้อย ด้วยกิจกรรม “ขยับกาย ขยายสมอง” ทุก ต้นชั่วโมง
             2.2 กระตุ้นสมองทั้งสองซีก โดยใช้บทเพลงและบทกลอน และกิจกรรมที่สนุกสนาน ช่วยในการสอนภาษาและคณิตศาสตร์
             2.3 กระตุ้นสมองทั้งสี่ส่วน โดยจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เห็นภาพ ได้รับรู้ผ่านการได้ยินเสียง ได้เคลื่อนไหวและได้ใช้ประสาทสัมผัส
          ซึ่งด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้นี้ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเลยทีเดียว
          3. สื่อการเรียนรู้ นวัตกรรม หนังสือเรียน และใบงาน จัดหาหนังสือเรียน และหนังสืออ่านเพิ่มเติมต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ จัดทำใบงานตามหลักการของ BBL ซึ่งประเด็นสำคัญ ในจุดนี้ก็คือ หนังสือและใบงาน ต้องได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง ฝึกให้เด็กได้คิดทีละขั้น มาประกอบกันเป็นความเข้าใจ ทั้งนี้ต้องมีสื่อที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น มีสีสัน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนรู้สึกสนุกสนาน พึงพอใจ เกิดความตั้งใจที่จะเรียนรู้เนื้อหาที่ซับซ้อน
          แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดการเรียน และสื่อ นวัตกรรม หนังสือเรียน ใบงาน มันเป็นเรื่องที่ละเอียดไม่สามารถที่จำนำเสนอในที่ได้ แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่าผู้บริหารและครูผู้สอน ล้วนมีความรู้ ประสบการณ์ และทักษะมากเพียงพอที่จะนำประยุกต์ใช้ได้ แต่สิ่งที่อยากจะเน้นในที่นี้คือ สีเป็นองค์ประกอบในการจัดกิจกรรม แต่สีไม่ใช่พระเอกในการจัดกิจกรรม เราต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า ในกิจกรรมแต่ละกิจกรรม อะไรเป็นพระเอก อะไรคือสิ่งที่ต้องเน้น ยกตัวอย่างเช่น หากเราใช้ใบงาน หรือสื่อ ในการสอนเรื่อง การบวก เลขสองหลัก สื่อของเรา ใบงานของเราจะต้องเอา วิธีการบวก มาเป็นพระเอก ตา นักเรียน สมองนักเรียน ใจนักเรียน จะต้องจดจ่ออยู่กับวิธีการบวกมากกว่าอย่างอื่น ไม่ใช่ไปจดจ่ออยู่กับสีสัน ไม่ใช่ไปจดจ่ออยู่กับรูปภาพประกอบ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ไม่ใช่บอกว่าสีสันไม่มีความจำเป็น แต่ในกรณี พระเอกของสื่อของใบงานของเรา คือวิธีการบวกเลขสองหลัก ไม่ใช่สีและภาพประกอบ
บทสรุป

          การดำเนินการพลิกโฉมโรงเรียนตามแนวทาง BBL นี้ จะประกอบไปด้วยหลักการใหญ่ๆ  2 ข้อ คือ การพัฒนาสมองให้พร้อมที่จะเรียนรู้ กับ การกระตุ้นสมองให้เรียนรู้ โดยคำนึงถึงว่า เราจะให้อะไรเป็นพระเอกในกิจกรรมที่เราจัดขึ้น นั่นก็คงต้องขึ้นอยู่กับครูผู้สอนแล้ว ว่า จะจัดหา จัดให้มี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อใช้ในการพลิกโฉมโรงเรียน ของเราอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น