ชีวิตใหม่และความฉลาดทางดิจิทัล ตอนที่ 1 วิกฤติการณ์โควิด 19 และผลกระทบ
1.วิกฤติการณ์โควิด 19 และผลกระทบ
การระบาดของโรคโควิด 19 เริ่มเกิดขึ้นในประเทศจีน ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยรายแรกที่เกิดนอกประเทศจีน หลังจากนั้นมีการระบาดไปทั่วโลก นับเป็นการระบาดที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกมนุษย์ ทุกประเทศจึงมีมาตรการในการป้องกันและต่อสู้กับโรคร้ายนี้ ประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดีในการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ มาตรการที่ใช้ดำเนินการในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต มีการพัฒนาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าช่วยเพื่อลดระยะห่าง (Social distancing) ทำให้กระทบกับวิถีชีวิต สังคม ที่ต้องปรับตัวครั้งสำคัญ จนกล่าวว่าเป็น วิถีใหม่ (New normal) ที่นำมาใช้ นับเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใด้เร็วยิ่งขึ้น หลายคนเริ่มปรับตัวให้คุ้นชินกับการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่นี้
1.1 การระบาดของโรคโควิด 19
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อ โควิด 19 เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 พบครั้งแรกในนครอู่ฮั่น ประเทศจีน การระบาดลุกลามนอกประเทศจีนอย่างรวดเร็ว กระจายทั่วโลก เมื่อการระบาดรุนแรงขึ้น วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณะสุขระหว่างประเทศ ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 ประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 มีผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วมากกว่า 107 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดนี้แล้ว มากกว่า2.35 ล้านคน และมีผู้หายป่วยแล้วมากกว่า 80 ล้านคน สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขแถลงการพบผู้ติดเชื้อในประเทศรายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2563 เป็นหญิงนักท่องเที่ยวชาวจีน อายุ 61 ปี เดินทางมาจากนครอู่ฮั่น เข้ามาทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563 นอกจากจะเป็นผู้ป่วยรายแรกที่พบในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ตรวจพบนอกประเทศจีน จนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไปแล้ว 23,903 คน รักษาหายแล้ว 18,914 คน และมีผู้เสียชีวิต 80 คน
ผู้ติดเชื้อกลุ่มแรกในประเทศจีนจำนวนหนึ่งมีความเชื่อมโยงกับตลาดสด ค้าอาหารทะเล และสัตว์ที่มีชีวิต ซึ่งอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าไวรัสนี้ น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ เมื่อพบผู้ป่วยปอดบวมไม่รู้สาเหตุเป็นกลุ่มก้อน ทางการจีนได้ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสที่ทำให้เกิดโรคนี้ จึงรู้ว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และเผยแพร่ข้อมูลรหัสพันธุกรรมให้ชาวโลกรับรู้ ข้อมูลนี้มีประโยชน์เพื่อใช้พัฒนาวิธีการตรวจเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคด้วยการดูจากรหัสพันธุกรรมจาก RNA ของไวรัส ต่อมาองค์การอนามัยโรค ตั้งชื่อไวรัสนี้ว่า SARS-CoV-2 เป็นไวรัสใหม่ที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับไวรัสโคโรนาในค้างคาว และไวรัสโคโรนาที่พบในตัวลิ่น จากการสืบสวนโรคไปหาผู้ป่วยที่สืบค้นได้ในรายต้นๆ ที่มีอาการ มีรายงานในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พบว่าเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีการสัมผัสกับตลาดค้าอาหารทะเลดังกล่าว (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
ในช่วงแรก จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงต้นและกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นสองเท่าในทุก ๆ เจ็ดวันครึ่ง ไวรัสแพร่กระจายไปยังมณฑลอื่น ๆ ของประเทศจีน เพราะเป็นเทศกาลตรุษจีน ประชาชนมีการเดินทางมาก ในที่สุด รัฐบาลจีนทำการล็อกดาวน์ ห้ามการเดินทาง ให้อยู่บ้าน การควบคุมโรคของประเทศจีนจึงไปในทางที่ดี สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และควบคุมโรคได้ในที่สุด
จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศจีนลดลง แต่การระบาดกระจายออกนอกประเทศจีน ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศอิตาลี ประเทศอิหร่าน และเกาหลีใต้ และต่อมาเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแถบลาตินอเมริกา อินเดีย และอีกหลายประเทศทั่วโลก
การระบาดใหญ่ (Pandemic) คือ การที่โรคติดเชื้อแพร่ระบาดจากคนสู่คน และแพร่กระจายได้ง่าย โดยเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น เมื่อปี ค.ศ. 2009 โลกได้เผชิญการระบาดใหญ่ของไข้หวัดหมู (Swine flu) ซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ที่มีต้นทางจากประเทศเม็กซิโก คร่าชีวิตผู้คนไปหลายแสนคน และต่อมาเป็นโรคประจำถิ่นที่ยังคงอยู่ต่อไป
โควิด 19 ทำให้เกิดอาการคล้ายกับเป็นหวัดธรรมดา เช่น ไอ มีไข้ และน้ำมูกไหล คล้ายไวรัสโคโรนาบางสายพันธุ์อื่น เช่น โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือเมอร์ส ซึ่งมีการยืนยันครั้งแรกในซาอุดีอาระเบียเมื่อปี พ.ศ. 2555 นั้น ทำให้ปอดอักเสบ หรือเกิดอาการสาหัสอื่น ๆ ร่วมด้วย
ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรค โควิด 19 (SARS-CoV-2) ที่ลุกลามทั่วโลกในขณะนี้ องค์การอนามัยโลกรายงาน พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 87.9 มีไข้, ร้อยละ 67.7 มีอาการไอ, ร้อยละ 38.1 อ่อนเพลีย และร้อยละ 33.4 มีเสมหะ ส่วนบางรายมีอาการอื่น ๆ เช่น หายใจติดขัด เจ็บคอ และปวดศีรษะ ผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการโดยเฉลี่ยในช่วง 5-6 วัน หลังได้รับเชื้อ
กลุ่มผู้ติดเชื้อทั้งหมด ร้อยละ 81 มีอาการค่อนข้างน้อย บางคนไม่แสดงอาการ ร้อยละ 14 มีอาการรุนแรง และหายใจลำบาก ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5 มีอาการวิกฤติ ต้องดูแลด้วยการใส่เครื่องช่วยหายใจ
ผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และมะเร็ง มีโอกาสมากขึ้นที่จะมีอาการรุนแรง หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
ทั้งนี้มีรายงานระบุถึงเด็กติดเชื้อมักมีอาการไม่รุนแรง ผู้ติดเชื้ออายุ 18 ปีหรือน้อยกว่า มีรายงานเพียงร้อยละ 2.4 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ที่เริ่มแรกมาหาแพทย์ หรือตรวจพบ มักมีน้ำมูก เจ็บคอ และไอ ทั้งหมดมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ อุณหภูมิร่างกายเกิน 37.5 องศาหรือสูงกว่า และมักจะเป็นยาวนานราว 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางคนมีไข้สูงหลัง 1 สัปดาห์ อาการต่าง ๆ ยาวนานกว่าโรคหวัดตามฤดูกาล หรือโรคติดเชื้อจากไวรัสอื่น ๆ การพัฒนาของโรค โควิด 19 อาจนำไปสู่ปอดบวม เกิดภาวะติดเชื้อ และเสียชีวิตได้ ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่มีการแสดงอาการ แต่ผลทดสอบที่ยืนยันว่าติดเชื้อ ดังนั้น ทางการแพทย์จึงแนะนำว่าบุคคลที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อแล้ว ควรมีการติดตามและทดสอบการติดเชื้ออย่างใกล้ชิด
โรคติดต่อ สามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปอีกหลายๆคน คนที่เป็นโรค มีความน่าจะเป็นที่จะแพร่ไปให้คนอื่นมารับโรคต่อได้จำนวนหนึ่ง ผู้ป่วยแต่ละคนแพร่กระจายให้คนมารับในช่วงต่อไปได้ไม่เท่ากัน บางคนดูแลป้องกันตัวเองดี อาจไม่แพร่กระจายให้ใครเลยก็ได้
การแพร่กระจายของโควิด 19 ขึ้นกับการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้มีเชื้ออยู่ในร่างกาย โดยไวรัสนี้จะติดมากับละอองฝอย ขณะพูด ตะโกน ไอ หรือจาม ความเสี่ยงในการติดโรคจึงขึ้นกับความใกล้ชิด และระยะเวลาที่ไปสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วย ความถี่การสัมผัสกับผู้ป่วย บุคลากรที่ต้องดูแลผู้ป่วย ญาติพี่น้องที่อยู่ร่วมกัน หรือการอยู่ร่วมกันในสถานที่อับ จำนวนครั้งที่มีโอกาสพบกับเชื้อโรค นอกจากนี้ยังขึ้นกับระยะเวลาที่คนไข้หนึ่งคนแพร่โรคได้ คือระยะเวลาที่ผู้ป่วยป่วยจนกว่าจะหาย ระยะเวลาที่แพร่เชื้อออกมาได้จึงตั้งแต่ พ้นระยะฟักตัว จนถึงเวลาหายจากป่วย คนไข้ยิ่งป่วยนาน ก็มีโอกาสแพร่เชื้อได้มาก
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น